วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วรรณกรรมท้องถิ่น

ความหมายของวรรณกรรมท้องถิ่น
วรรณกรรมท้องถิ่น หมายถึง วรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์อักษรที่ถ่ายทอดในกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใดในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งมาเป็นเวลานาน ผู้เล่าหรือผู้เขียนเป็นคนในท้องถิ่นถ่ายทอดให้แก่คนในท้องถิ่นเดียวกับตนโดยการบอกเล่าหรือเขียนบันทึก ไว้
วรรณกรรมท้องถิ่นที่เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ได้แก่ เพลงพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน
           สำนวนโวหาร ภาษิต ปริศนาคำทาย คำกล่าวในพิธีกรรมต่างๆ เช่น คู่สู่ขวัญ คาถา เป็นต้นและบทที่ใช้ในการแสดงพื้นบ้านวรรณกรรมเหล่านี้ล้วนสืบทอดกันมาตามประเพณื จากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นหลัง โดยการเล่าการขับ การร้อง และการแสดงส่วนวรรณกรรมท้องถิ่นที่ถ่ายทอดด้วยตัว เขียนที่เรียกว่าวรรณกรรมลายลักษณ์เป็นวรรณกรรมที่กวืในท้องถิ่นแต่งขึ้นและบันทึกด้วยตัวอักษรที่ใช้กันในท้องถิ่น ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา นิทานที่มี คติสอนใจ คำสอนเชิงจริยธรรม บันทึกทางประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น และตำราความรู้ต่างๆ
เนื่องจากกวีหรือผู้คัดลอกต้องเป็นผู้รู้หนังสือ จึงเป็นหน้าที่ของพระภิกษุโดยบรรยาย
          ในวันธรรมสวนะและวันสำคัญทางประเพณี พระสงฆ์จะนาหนังสือมาอ่านให้ญาติโยมฟังเป็นการถ่ายทอดวรรณกรรมสู่ประชาชน ขณะเดียวกันคนไทยในทุกท้องถิ่นก็เคยมีความเชื่อร่วมกันว่า การสร้างหนังสือถวายวัดเป็นการสืบทอดพระศาสนาอย่างหนึ่ง จึงทำให้เกิดประเพณีการแต่งหนังสือและการคัดลอกหนังสือเก็บไว้ที่วัด วัดจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญในการเผยแพร่วรรณกรรมลายลักษณ์ของท้องถิ่น

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สำนวนไทย

                           สำนวนไทย
                                                สำนวนไทย:สำนวนอังกฤษ (Idiom และ สำนวนไทยที่นิยม)
1. a double –edged sword
ดาบสองคม
2. Build castles in the air
สร้างวิมานในอากาศ
3. Diamond cut diamond
เพชรตัดเพชร
4. Hang by a thread
แขวนอยู่บนเส้นด้าย
5. in two minds
สองจิตสองใจ
6. lead by the nose
จูงจมูก
7. let bygones be bygones
ให้มันแล้ว แล้วไป
8. make someone’s head spin
ทำให้หัวปั่น
9. pave the way
ปูทาง
10. play with fire
เล่นกับไฟ
11.Slippery as an eel
ลื่นเหมือนปลาไหล
12. a dirty old man
เต่าหัวงู
13. The sooner the better
ยิ่งเร็วยิ่งดี
14. Two-faced
ตีสองหน้า
15. Sleeping partner
เสือนอนกิน
16. A thorn in someone’s flesh
หนามยอกไก่
17. an old flame
ถ่านไฟเก่า
18. attemp an uphill task
เข็นครกขึ้นเขา
19. before someone’s eyes
ต่อหน้าต่อตา
20. bone idle (lazy)
ขี้เกียจสันหลังยาว
21. born with a silver spoon in one’s mouth
คาบช้อนเงินช้อนทอง
ขอบคุณข้อมูลจากtlcthai.com


สำนวนไทย:ลักษณะของสำนวนไทย                                                        
ลักษณะของสำนวนไทย
ลักษณะของสำนวนไทยนั้น มีทั้งประเภทเสียงสัมผัสคล้องจองกัน และ แบบไม่มีเสียงสัมผัส ดังนี้
๑ . ประเภทมีเสียงสัมผัส
ก. ๔ คำสัมผัส
ข. ๖- ๗ คำสัมผัส
ค. ๘- ๙ คำสัมผัส
๒ . ประเภทไม่มีเสียงสัมผัส
ก. ๒ คำเรียงกัน
ข. ๓ คำเรียงกัน
ค. ๔ คำเรียงกัน
ง. ๕ คำเรียงกัน
จ. ๖- ๗ คำเรียงกัน
บทละครนอก
ละครนอกของไทยมีประวัติความเป็นมาดังที่ เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ กล่าวไว้ในหนังสือวรรณกรรมพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังนี้
การเล่นละครนอกของไทยนั้นเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี ดังที่ เมอสิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ เล่าไว้ใน จดหมายเหตุพงศาวดาร พระราชอาณาจักรสยาม
ละครนอกแต่เดิมคือละครที่ราษฎรเล่นกันในพื้นเมือง ตัวละครเป็นชายล้วน เพราะแต่โบราณมีพระราชบัญญัติ ห้ามมิให้ผู้อื่นมีละครผู้หญิง เพิ่งพระราชทาน พระบรมราชาอนุญาต เมื่อรัชกาลที่ ๔ นี่เอง ดังนั้นละครที่ใช้ผู้หญิงเล่น จึงมีแต่ละครของหลวง
ศิลปินหญิงของหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๒ แสดงทั้งละครใน และละครนอก ส่วนละครของเอกชนนั้น เป็นการแสดงของศิลปินชาย เพราะไม่ได้อยู่ในข้อห้าม แต่การเล่นละครนอกในกรุงเทพฯ นั้น คงจะเอาอย่างละครในที่เล่นกันเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนกระทั่ง ละครนอกกับละครในเกือบจะเป็นอย่างเดียวกัน ผิดกันแต่ทำนองร้อง และกระบวนการเล่นบางอย่างเท่านั้น
ละครนอกในสมัยกรุงศรีอยุธยา คงจะมาจากการเล่นพื้นเมืองของชาวบ้าน แล้วมาผูกเรื่องราวขึ้น เล่นโดยอาศัยเค้าเรื่องจาก นิทาน
   ชาดก   หลายๆ เรื่องจาก นิบาตชาดก และปัญญาสชาดก ตลอดจนนิทานพื้นบ้าน เพราะเป็นเรื่องที่ชาวบ้านนิยมเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยสมัยก่อนการเขียนหนังสือเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และสิ้นเปลือง การจารึกบทละครนอก ลงเป็นลายลักษณ์อักษรจึงมีอยู่น้อย ทั้งอาจกระจัดกระจายไปเมื่อครั้งกรุงแตก จึงปรากฏว่าบทละครสมัยเก่า มีหลักฐานเหลืออยู่เพียง ๑๔ เรื่อง คือ
๑. การเกด
๒. คาวี
๓. ไชยทัต
๔. พิกุลทอง
๕. พิมสวรรค์
๖. พิณสุริวงศ์
๗. มโนห์รา                                                                                    

๘.   โม่งป่า
๙.
   มณีพิชัย
๑๐. สังข์ทอง
๑๑. สังข์ศิลป์ชัย
๑๒. สุวรรณศิลป์
๑๓. สุวรรณหงส์
๑๔. โสวัตร
และยังมีอีกบทละครนอกอีก ๕ เรื่อง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นบทละครสำนวนเก่าก่อนสมัยรัชกาลที่ ๒ แต่ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า เป็นบทละครสำนวนเก่าถึง สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือไม่ คือ
๑. ไกรทอง
๒. โคบุตร
๓. ไชยเชษฐ์
๔. พระรถเมรี
๕. ศิลป์สุริวงศ์

สำนวนไทยที่ปรากฏในบทละครนอก
๑. กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน
๒. กินที่ลับไขที่แจ้ง
๓. กิ้งก่าได้ทอง
๔. แก้เกี้ยว
๕. แก้มือ
๖. กอดเข่าเจ่าจุก
๗. กรรมตามทัน
๘. ขว้างงูไม่พ้นคอ
๙. ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า
๑๐. เขียนเสือให้วัวกลัว
๑๑. ความวัวไม่ทันหาย ความความเข้ามาแทรก
๑๒. คอเป็นเอ็น
๑๓. คางเหลือง
๑๔. งามหน้าห้าไร่
๑๕. จองหองพองขน
๑๖. กินแหนงแคลงใจ
๑๗. ใจเสาะเหมือนปลาซิว
๑๘. ใจเบา
๑ ๙. ช้างสารงูเห่า ข้าเก่าเมียรัก
๒๐. ดับไฟหัวลม ๒๑. ตาขาว
๒๒. ตีงูให้หลังหัก
๒๓. ตีวัวกระทบคราด
๒๔. ตีอกชกหัว
๒๕. เต้นแร้งเต้นกา
๒๖. ถ่านไฟเก่า
๒๗. บั้งแบว (บ้องแบ๊ว)
๒๘. บ้านนอกขอกนา
๒๙. บุกป่าฝ่าหนาม
๓๐. บุญหนักศักดิ์ใหญ่
๓๑. ปั้นน้ำเป็นตัว
๓๒. ปากโป้ง
๓๓. ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่
๓๔. ปึ่งปั้น (ปั้นปึ่ง)
๓๕. พระอินทร์มาเขียว ๆ
๓๖. พาลรีพาลขวาง
๓๗. ฟื้นฝอยหาตะเข็บ
๓๘. มิตรจิตมิตรใจ
๓๙. ไม่เข้ายา
๔๐. รักพี่เสียดายน้อง ๔๑. ราพูเข้าพระเสาร์แทรก
๔๒. ลางเนื้อชอบลางยา
๔๓. ลูกไก่ในกำมือ
๔๔. แล่เนื้อเกลือทา
๔๕. ลดเลี้ยวเกี้ยวพาน
๔๖. ล้มลุกคลุกคลาน
๔๗. วัวสันหลังขาด (วัวสันหลังหวะ)
๔๘. สาวใส้ให้กากิน
๔๙. เส้นผมบังภูเขา
๕๐.หนาม ยอกเอาหนามบ่ง
๕๑. หยิกเล็บจะเจ็บเนื้อ
๕๒. หัวเหาเต่าเล็น
๕๓. อกหัก
๕๔. อกไหม้ไส้ขม
๕๕. อาภัพเหมือนปูน
๕๖. เอาทองไปรู่กระเบื้อง
ขอขอบคุณข้อมูลจากkaweeclub.com
สาเหตุที่เกิดสำนวน
๑. ต้องการคำเพื่อสื่อสารความรู้สึกให้เพียงพอ เมื่อเกิดความต้องการคำให้เพียงพอกับความรู้สึก จึงต้องคิดคำใหม่อาจอิงคำเดิม แต่เปลี่ยนความหมายไปบ้าง หรือคล้าย ความหมายเดิมที่ก็มีอยู่มาก
๒. หลีกเลี่ยงการใช้คำบางคำ ซึ่งถ้าใช้แล้วอาจหยาบคาย หรือก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ตัวอย่าง คำว่า ตาย อาจมีหลายสำนวน เช่น ซี้ ม่องเท่ง เสร็จ
  เสียชีวิต   ถึงแก่กรรม    ไปค้าถ่าน    ไปนรก  หรือ ถ่ายปัสสาวะ  อาจใช้ เบา   ไปยิงกระต่าย   ไปเก็บดอกไม้
๓. เพื่อให้สุภาพ หรือเหมาะสมกับฐานะของบุคคล เช่น ตัดผม
  ทรงเครื่อง  หรือทรงพระเครื่องใหญ่
๔. ต้องการให้คำพูดมีรสชาติ หรือ เกิดภาพ ตัวอย่าง กุ้งแห้งเดินมาแล้ว (อาจหมายถึงคนผอมแห้ง)
ขอบคุณข้อมูลจากkaweeclub.com
ความหมายของสำนวน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำว่า สำนวน ไว้ดังนี้
สำนวน (น.) ถ้อยคำที่เรียบเรียง โวหาร บางทีก็ใช้ว่า สำนวนโวหาร เช่น สารคดีเรื่องนี้สำนวนโวหารดี ความเรียงเรื่องนี้สำนวนโวหารลุ่มๆ ดอนๆ ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือ มีความหมายอื่นแอบแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง ถ้อยคำที่แสดงออกมาเป็นข้อความพิเศษ เฉพาะภาษาหนึ่งๆ เช่น สำนวนฝรั่ง สำนวนบาลี ชั้นเชิง หรือท่วงทำนองในการแต่งหนังสือหรือพูด เช่น สำนวนเจ้าพระยา พระคลัง (หน) สำนวนยาขอบ สำนวนไม้เมืองเดิม ลักษณนาม ใช้เรียก ข้อความหรือบทประพันธ์รายหนึ่งๆ เช่น อิเหนา สำนวน บทความ ๒ สำนวน (ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๓๘ : ๘๓๕)
กาญจนาคพันธุ์ ได้อธิบายความหมายของ คำว่า สำนวน ไว้ในหนังสือสำนวนไทย ดังนี้คำพูดของมนุษย์เราไม่ว่าจะชาติใดหรือภาษาใด แยกออกได้กว้างๆ เป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งพูดตรงไปตรงมาตามภาษาธรรมดา พอพูดออกมาก็เข้าใจกันได้ทันที อีกอย่างหนึ่งพูดเป็นชั้นเชิงไม่ตรงไปตรงมา แต่ให้มีความหมายในคำพูดนั้นๆ คน ฟังอาจเข้าใจความหมายทันทีถ้าพูดคำนั้น ใช้กันแพร่หลายทั่วไป จนอยู่ตัวแล้ว แต่ถ้าไม่แพร่หลายคนฟังก็ไม่อาจเข้าใจได้ทันที ต้องคิดจึงเข้าใจ หรือบางทีคิดแล้วเข้าใจอย่างอื่นก็ได้ หรือไม่เข้าใจเอาเลยก็ได้ คำพูดเป็นชั้นเชิงนี้ เราเรียกกันว่า สำนวน คือ คำพูดเป็นสำนวนอย่างชาวบ้านเขา เรียกว่า พูดสำบัดสำนวน
(กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๒๒ : ๑)
ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่มิได้มีความหมายตรงไปตรงมาตามตัวอักษร หรือแปลตามรากศัพท์ แต่เป็นถ้อยคำที่มีความหมาย เป็นอย่างอื่น คือ เป็นชั้นเชิงชวนให้คิด ซึ่งอาจเป็นไปในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม และอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยอย่างเด่นชัด
ขอขอบคุณข้อมูลจากkaweeclub.com
ลักษณะสำนวนไทย
ข้อความที่เป็นสำนวนไทยมีลักษณะดังนี้ คือ
         1. มีความหมายโดยนัย คือความหมายม่ตรงตัวตามความหมายโดยอรรถ พูดอย่างหนึ่งม ีความหมายอีกอย่างหนึ่ง เช่น
 กินปูนร้อนท้อง รู้สึกเดือดร้อนเพราะมีความผิดอยู่
 ขนทรายเข้าวัด ร่วมมือร่วมใจกันทำบุญ
 ฤษีเลี้ยงลิง เลี้ยงเด็กซุกซน เป็นต้น
          2. ใช้ถ้อยคำกินความมาก การใช้ถ้อยคำในสำนวนส่วนใหญ่เข้าลักษณะใช้คำน้อยกินความมาก เนื้อความมีความหมายเด่น เช่น ก่อหวอด ขึ้นคาน คว่ำบาตร ขมิ้นกับปูน คมในฝัก กิ้งก่าได ้ทอง ใกล้เกลือกินด่าง เด็ดบัวไว้ใย ซึ่งล้วนมีความหมายอธิบายได้ยืดยาว ส่วนที่ใช้ถ้อยคำหลายคำ แต่ละคำก็ล้วนมีความหมายและช่วยให้ได้ความกระจ่างชัดเจน
          3. ถ้อยคำมีความไพเราะ การใช้ถ้อยคำในสำนวนไทยมักใช้ถ้อยคำสละสลวยมีสัมผัสคล้องจอง เน้นการเล่นเสียงสัมผัสสระ สัมผัสอักษร ให้เสียงกระทบกระทั่งกัน เกิดความไพระน่าฟังทั้ง สัมผัสภายในวรรคและระหว่างวรรค มีการจัดจังหวะคำหลายรูปแบบ เช่น เป็นกลุ่มคำซ้อน 4 คำ อย่าง ก่อกรรมทำเข็ญ ก่อร่างสร้างตัว คู่ผัวตัวเมีย คู่เรียงเคียงหมอน คำซ้อน 6 คำ เช่น ขิงก็ราข่าก็แรง ขี้ก้อนใหญ่ให้เด็กเห็น ยุให้รำตำให้รั่ว ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง คำซ้อน 8 คำ หรือมากกว่าบ้าง เช่น ไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง กำแพงมีหูประตูมีตา เป็นต้น
           ลักษณะสัมผัสคล้องจองเป็นร้อยกรองง่ายๆ หลายรูปแบบ มีทั้งคล้องจองกันในข้อความตอน เดียว เช่น ตื่นก่อนนอนหลัง ต้อนรับขับสู้ ผูกรักสมัครใคร่ โอภาปราศรัย และคล้องจองในข้อ ความที่เป็น 2 ตอน ซึ่งมีอยู่จำนวนมากและในข้อความมากกว่า 2 ตอน เช่น น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง เป็นต้น
           4. สำนวนไทยมักมีการเปรียบเปรย หรือมีประวัติที่มา ส่วนใหญ่มาจากการเปรียบเทียบกับ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ประเพณี ศาสนา นิยาย นิทานต่างๆ กิริยาอาการ และส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตัวอย่างเช่น กลับหน้ามือเป็นหลังมือ นอนตาไม่หลับ ใจดีสู้เสือ กินไข่ขวัญ ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจากstudent.chula.ac.th
ปีจอ ขอเขียนเรื่องสี่ขา
อักษราได้นำเรื่องราวของไก่ในสำนวนไทยมาเขียนให้ได้อ่านกันในพูดไทยเขียนไทย มา 2 ฉบับแล้ว คือ ฉบับเดือนสิงหาคมและตุลาคมที่ผ่านมา คราวนี้ขอเขียนถึงเจ้าสี่ขาสัตว์สัญลักษณ์ของปีจอกันบ้าง สุนัข ตามศัพท์แปลว่า ผู้มีเล็บงาม เป็นคำสุภาพของหมา แต่สำนวนไทยส่วนใหญ่ใช้คำว่า หมา เมื่อกล่าวถึงสัตว์เลี้ยงชนิดนี้ ถ้าใครรู้สึกว่า หมา ไม่สุภาพแล้วเปลี่ยนมาใช้คำว่า สุนัข แทนจะฟังขัดหู จะมีก็เพียงสำนวน หมาจนตรอก เท่านั้นที่บางครั้งใช้ว่า สุนัข จนตรอก ซึ่งหมายถึงคนที่จำต้องฮึดสู้อย่างไม่คิดชีวิตเพื่อเอาตัวรอดเพราะไม่มีทาง เลือกอื่น เมื่อจวนตัวหมดทางก็ต้องหันมาต่อสู้กันจนสุดฤทธิ์ สำนวนนี้มาจากพฤติกรรมของสุนัขเมื่อถูกไล่ต้อนวนอยู่ในตรอกที่ตันไม่มีทาง หนีต่อไปก็มักจะหันมาฮึดสู้ การที่สำนวนนี้ใช้คำว่า สุนัข โดยไม่ขัดหูคงเป็นเพราะมีการใช้คู่กับสำนวน เสือสิ้นตวักหมายถึง เสือที่เล็บหักหายเมื่ออาวุธสำคัญสำหรับใช้ตะปบคู่ต่อสู้หายไปก็ตกอยู่ใน ภาวะฮึดสู้เหมือนกัน จึงเกิดสำนวน เสือสิ้นตวัก สุนัขจนตรอก เพราะคำว่า เสือกับ สุนัขขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ เหมือนกัน และคำว่า ตวักก็มีเสียสัมผัสกับคำว่า นัข เมื่อใช้ด้วยกันจึงมีเสียงคล้องจอง ฟังไพเราะ เมื่อแยกกล่าวเฉพาะสำนวนที่เกี่ยวกับสุนัขจึงพบว่ามีการใช้ทั้งสำนวน หมาจนตรอก และ สุนัขจนตรอก
สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านที่ใกล้ชิดคน บางคนรักและทะนุถนอมสุนัขมากถึงกับนำมากอดจูบอุ้มชู บางคนถึงกับให้นอนด้วย คนโบราณจะรักสุนัขมากขนาดนี้หรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ถ้าสังเกตจากสำนวนไทยจะเห็นว่าพฤติกรรมและเรื่องราวต่าง ๆ ของสุนัขที่นำมาเป็นสำนวนนั้น ไม่ค่อยจะบ่งบงถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของสุนัขสักเท่าไหร่เลย เช่น นิสัยของสุนัขที่ชอบเลีย ถ้าอุ้มหรือก้มหน้าลงไปใกล้สุนัข สุนัขก็จะเลียแสดงอาการรักใคร่ประจบประแจง คนไทยในสมัยก่อนไม่ได้มองในทางน่าเอ็นดู แต่กล่าวเป็นสำนวนว่า เล่น กับหมา หมาเลียปาก บางครั้งก็ต่อด้วยสำนวนว่า เล่นกับสาก สากต่อยหัว โดยสังเกตจากสากขนาดใหญ่ที่ใช้ตำข้าวซึ่งมักจะวางพิงไว้เวลาไม่ใช้งาน ถ้าใครอยู่ไม่สุขไปจับเล่น สากอาจจะเลื่อนล้มมาทับเอาได้สำนวนไทยที่มักจะใช้ต่อเนื่องกันว่า เล่น กับหมา หมาเลียปาก เล่นกับสาก สากต่อยหัว จึงหายถึงความว่าลดตัวลงไปพูดจาเล่นหัวกับบุคคลชั้นต่ำกว่าหรือเด็กกว่าเป็น การวางตัวที่ไม่เหมาะสม ก็จะถูกตีเสมอหรือถูกลามปามได้ ปกติสุนัขที่ถูกปล่อยให้เดินเพ่นพ่านกลางถนน เรียกว่า สุนัขจรจัด แต่ถ้าสุนัขที่มีเจ้าของเลี้ยงดูอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จะมีปลอกคอ คือ สายรัดรอบคอใช้สำหรับล่ามจูงให้จับง่ายและในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องหมาย ว่า สุนัขตัวนี้ไม่ใช่สุนัขกลางถนนหรือที่เรียกกันว่า หมากลางถนน แต่เป็นสุนัขที่มีเจ้าของ ดังนั้นสำนวน หมามีปลอกคอ จึงหมายถึงคนที่มีผู้ทรงอิทธิพลหรือผู้ทีอำนาจคอยคุ้มครองคอยสนับสนุนช่วย เหลืออยู่
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของสุนัข คือ เมื่อสุนัขตัวใดตัวหนึ่งเข้าจู่โจมคนสัตว์ชนิดอื่นหรือแม้แต่สุนัขด้วยกัน แล้ว สุนัขตัวอื่น ๆ จะกรูกันเข้ามาร่วมเห่าร่วมกัดด้วยสำนวน หมา หมู่ จึงหมายถึง กลุ่มคนที่กลุ้มรุมทำร้ายคนคนเดียว มักใช้ในกรณีของพวกนักเลงที่มีพรรคพวกมาก ร่วมกันรุมทำร้ายผู้มีกำลังน้อยกว่า พูดถึงหมาหมู่แล้วขอพูดถึงหมาที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวบ้าง ไทยเรามีสำนวน หมา หัวเน่า หมายถึงผู้ซึ่งเป็นที่รังเกียจของผู้อื่น เข้ากับใครไม่ได้ ไม่มีใครครบหาด้วยส่วน หมาหางด้วน นั้นเป็นสำนวน หมายถึงผู้ที่ทำอะไรผิดพลาดจนได้รับความอับอาย แล้วพยายามชักชวนผู้อื่นให้เห็นว่าสิ่งที่ตนทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ดีควรทำตาม เพื่อจะได้มีพวกที่ทำผิดอย่างเดียวกัน
บ้านของคนไทยสมัยก่อนมักยกพื้นสูงจึงมีใต้ถุนบ้าน ถ้าเป็นบ้านของคนธรรมดาพื้นกระดานจะไม่ปูชิดกันจนสนิทจะมีร่องอยู่บ้างโดย เฉพาะพื้นครัว ซึ่งครัวมักจะอยู่มุมชานบ้านเมื่อทำอาหารอาจจะมีเศษอาหารหล่นลงร่องไปสุนัข มักจะมาหาอะไรกินแถว ๆ ใต้ถุนครัว บางครั้งสุนัขมากันหลายตัวแย่งเศษอาหารกันกัดกันส่งเสียงเห่าน่ารำคาญ คนทำครัวอยู่ก็รำคาญ จึงเอาน้ำร้อนเทราดลงไป สุนัขถูกน้ำร้อนราดก็วิ่งพล่านจึงเป็นสำนวน
หมาถูกน้ำร้อน ใช้กับคนที่มีธุระร้อนต้องดิ้นรน เที่ยววิ่งพล่านไปทำธุระนั้น ๆ เรื่องของสุนัขกับน้ำร้อนยังมีคนท้องถิ่นนำไปเป็นสำนวนเปรียบอีกสำนวนหนึ่ง คือ ทำงานเหมือนหมาเลียน้ำร้อน เพราะปกติเวลาสุนัขกินน้ำจะใช้ลิ้นเลียและตวัดน้ำเข้าปากอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อน้ำนั้นร้อนสุนัขจะไม่ค่อยกล้า จะเลียบ้าง หยุดบ้างหรือหนีไปเลย สำนวนทำงานเหมือนสุนัขเสียน้ำร้อนจึงหมายถึงคนที่ทำงานไม่เรียบร้อยไว้ใจไม่ ได้
รางเป็นภาชนะรูปยาวมีร่องตรงกลาง อาจจะนำไม้เป็นแผ่นยาวมาต่อกันหรือนำท่อนไม้มาขุดเป็นร่องยาวตรงกลางก็ได้ ชาวบ้านจะนำอาหารมาเทในรางเพื่อให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้เช่นหมูได้กิน สุนัขที่วิ่งไปกินอาหารรางนั้นทีรางนี้ทีจึงเรียกว่า หมอสองราง เป็นสำนวนที่หมายถึงผู้ที่ทำตัวเข้ากับทั้งสองฝ่ายบางครั้งใช้สำนวนว่า ตี สองหน้า หมาสองราง ปกติสุนัขเป็นสัตว์กินเนื้อ กินหญ้า แต่มีนิทานเล่าถึงสุนัขในรางหญ้าว่า แม้คนจะไม่กินหญ้า แต่เมื่อสัตว์กินหญ้า เช่น โคกระบือ จะเข้ามากินหญ้าสุนัขจะไม่ยอม เป็นสำนวน หมาในรางหญ้าหรือ หมาหวงราง หมายถึงผู้ซึ่งหวงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และไม่ยอมให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์คล้ายกับ หมาหวงก้าง แต่สำนวน หมา หวงก้าง มีนัยในทำนองกันท่าคนอื่นในสิ่งที่ตนได้ประโยชน์ไปแล้วหรือใช้ประโยชน์ไม่ ได้แล้ว เหมือนสุนัขที่กินเนื้อปลาหมดไปแล้ว แต่ยังคอยระวังไม่ให้สัตว์อื่นมาแย่งก้างปลาไป จะรวมไว้หมดทั้งเนื้อปลาทั้งก้างปลาไม่ยอมให้ใคร ๆ มามีส่วนเกี่ยวข้อง
เรื่องราวของสุนัขในสำนวนไทยสะท้อนให้เห็นพฤติกรรม และความใกล้ชิดของคนกับสุนัข พูดไทยเขียนไทย ฉบับหน้า อักษรายังมีสำนวนไทยที่เกี่ยวข้องกับ ผู้มีเล็บงามนามว่าสัข ให้ได้อ่านกันอีก
ขอขอบคุณข้อมูลจากthainews.prd.go.th
ปีระกา จึงขอเขียนเรื่องไก่
ปีนักษัตรปีนี้คือ ปีระกา ถ้าเรียกอย่างชาวบ้านก็คือ ปีไก่ ไก่ เป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดคนไทยมา เป็นเวลานาน ดังนั้น คนไทยจึงสังเกตพฤติกรรมของไก่และนำมาเป็นสำนวนหลายสำนวนด้วยกัน  เมื่อไก่โก่งคอส่งเสียงเราเรียกว่า ไก่ขัน คนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างสังคม ฟังเสียงไก่ขันแตกต่างกันไป  คนเยอรมันฟังเสียงไก่ขันเป็น กิ๊กกะริกกี้ คนอังกฤษฟังเป็น ค้อกอะดูเดิ้ลดูแต่คนไทยกลับฟังเป็น เอ็กอี่เอ็กเอ้ก
สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมเลี้ยงเช่นเดียวกันกับไก่จนพูดกันติดปากว่าเป็น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ จนเป็ดกับไก่ดูจะเป็นสัตว์ที่คู่กัน ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน จะด้อยกว่ากันก็ตอนขัน เพราะเป็ด ขันไม่ได้เหมือนไก่ จึงเกิดสำนวนว่า เป็ดขันประชันไก่ ซึ่ง หมายถึง การเอาสิ่งที่ด้อยกว่าไปประชัน กับสิ่งที่ดีกว่า อาจจะเป็นเพราะว่าหาสิ่งที่ดีเลิศไม่ได้ก็ต้องเอาสิ่งที่ด้อยกว่าไปประชัน เป็นการแก้ขัด ให้คนอื่นเห็นว่าเราก็มีเหมือนกัน
ไก่เป็นสัตว์ตื่นเช้า ดังนั้นจึงมีการเอาพฤติกรรมของไก่มาเป็นการบอกเวลาในสมัยก่อน ไก่ จะขันตั้งแต่เวลาเช้ามืดพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น จึงเกิดสำนวนบอกเวลาไก่ขัน คือเวลาเช้าตรู่ หรือรุ่ง สาง แต่ถ้าจะพูดให้ได้อารมณ์และเห็นภาพมักใช้สำนวน ไก่โห่ ความหมายเช่นเดียวกัน มาแต่ไก่โห่  คือมาแต่เช้าตรู่นั่นเอง
อีกสำนวนคือ มาก่อนไก่ น่า จะยิ่งเช้ามากกว่าก่อนเวลาไก่ขัน ในนิทานพื้นบ้านเรื่อง ศรี ธนญชัย ซึ่งรู้จักกันดีกล่าวถึงตัวเอกของเรื่อง คือ ศรีธนญชัย ใช้ไหวพริบแก้ตัวกับพระเจ้าแผ่นดิน เวลาที่มาเข้าเฝ้าสาย โดยเอาไก้ผูกก้นให้ไก่เดินตามหลังมาและกราบทูลว่า ตนมาก่อนไก่ จึงเกิด สำนวนล้อแกมประชดประชันคนที่มาสายว่า เอาไก่ผูกก้นมาหรือเปล่า
พฤติกรรมของไก่ไม่ได้มีแต่การขันตอนเช้าตรู่เท่านั้น เวลากลางวันไก่จะคุ้ยเขี่ยหากินตาม พื้นดิน พอตกเย็นพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า ไก่มักบินขึ้นไปนอนบนที่สูงบางตัวอาจจะเกาะกิ่งไม้ ใช้กิ่งไม้เป็นรัง หรือคนเลี้ยงอาจจะสร้างรังให้ไก่ในที่ยกพื้นสูง เมื่อเวลาหมดแสงอาทิตย์ และไก่บิน ขึ้นไปบนรัง จึงเกิดสำนวนบอกเวลา ไก่ขึ้นรัง ซึ่งหมายถึงเวลาพลบค่ำนั่นเอง
ปกติไก่จะคุ้ยเขี่ยอาหารทั้งวัน หากดูบนพื้นดินบริเวณที่ไก่หากินจะมีรอยเท้าที่ไก่ย้ำและ รอยการคุ้ยเขี่ยหาอาหารยุ่งเหยิงไปหมด จึงมีสำนวนเปรียบเทียบคนที่เขีนยนหนังสือหวัดลายมือยุ่ง เหยิงอ่านยากหรืออ่านไม่ออกว่า ลายมือเหมือนไก่เขี่ย อาหารที่ไก่คุ้ยเขี่ยหากินบนพื้นดินก็คือ เมล็ดพืช ข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือแมลงตัวเล็กๆ แต่ถ้าไก่บังเอิญคุ้ยเขี่ยไปพบของมีค่าเช่น เพชร  พลอย ที่ตกจากร่องกระดานของบ้านเรือนลงมาอยู่ที่พื้นดินใต้ถุนบ้าน ไก่จะเห็นว่าไร้ค่าไม่สามารถใช้ เป็นอาหารได้จึงเกิดสำนวน ไก่ได้พลอย
ไก่ชอบกินข้าวเปลือกเป็นอาหาร จึงเกิดสำนวน ตราบใดที่ไก่ยังกินข้าวเปลือก ตราบนั้น คุณก็ยังกินสินบน เมื่อตัดข้อความให้สั้นเข้าเหลือเป็นสำนวนว่า ไก่กินข้าวเปลือก จึงหมายถึงการ กินสินบนไปโดยปริยาย พฤติกรรมที่น่าสนใจของไก่อีกอย่างหนึ่งคือ ไก่สามารถบินได้ แต่ก็ไม่ สามารถบินได้สูงหรือไกลเหมือนนก การที่ไก่บินได้ในระยะสั้นๆ นี้เองทำให้เกิดสำนวนว่า ไก่บินไม่ ตก เป็นการกล่าวถึงบริเวณที่ปลูกบ้านกันอย่างหนาแน่นหลังคาบ้านแต่ละหลังชนกัน เกยกัน จนไก่ ซึ่งบินได้ในระยะสั้นๆ ก็ยังบินไม่ตก
นอกจากจะเลี้ยงไก่เพื่อกินเนื้อกินไข่แล้ว คนไทยยังสังเกตพฤติกรรมของไก่พื้นบ้านตัวผู้ว่ามักมีการจิกตีต่อสู้กันอยู่ บ่อยๆ อาจเป็นเพราะต้องการอำนาจเป็นจ่าฝูง ต้องการครอบครองตัวเมีย ต้องการครอบครองอาณาจักรหาอาหารของตน หรือจะเขม่นกันเองเป็นการส่วนตัวก็เหลือจะเดา ด้วยความที่ไก่พื้นเมืองตัวผู้มีเลือดนักสู้เข้มข้นนี้เอง คนจึงหาความสนุดสนานด้วยการจับไก่มาชนกันเกิดเป็นกีฬาชนไก่ และมักมีการพนันขันต่อว่าไก่ตัวใดจะชนะ เมื่อเป็นเรื่องของการพนันก็ต้องมีการฝึกไก่ของตนให้แข็งแรงและเชี่ยวชาญใน การต่อสู้แล้วนำไก่ไปยังสถานที่ซึ่งจัดขึ้นเพื่อประลองความสามารถของไก่ เรียกว่า บ่อนก่อนชนจะต้องนำไก่มาเปรียบกันก่อน การเปรียบจะดูกันหลายอย่าง เช่น ขนาดตัว ข้อลำ น้ำหนัก และเดือย เป็นต้น ต้องดูว่าพอเหมาะพอสมกัน เจ้าของไก่จึงจะพอใจให้ไก่ชนกัน แต่ถ้าเปรียบแล้วหาคู่ชนไม่ได้ หากต้องการให้มีการแข่งขันก็อาจนำไก่ของทางบ่อนลงชน จึงเกิดสำนวนว่า ไก่รองบ่อน ซึ่งย่นย่อมาจาก ไก่สำรองบ่อนหมายถึง การเป็นตัวสำรองนั่นเอง
ในการชนไก่ นอกจากไก่จะใช้ปากจิก ปีกกระพือตีกันแล้ว ยังมีการกระพือปีกยกตัวแล้วเอาหน้าแข้งตี อาวุธที่สำคัญคือ เดือยที่แข้งไก่ ซึ่งจะใช้แทงคู่ต่อสู้จนบาดเจ็บ ถ้าแทงถูกตาโดยตรงตาจะแตก ไก่ตัวที่ตาแตกมักยืนงง อาจจะเป็นเพราะมองไม่เห็น หรือเจ็บปวดบาดแผลที่ตาก็ตามแต่ จึงเกิดเป็นสำนวนว่า งงเป็นไก่ตาแตก เปรียบ เทียบกับอาการของคนที่ทำอะไรไม่ถูกเมื่อตกอยู่ในสถาณการณ์ใดสถาณการณ์หนึ่ง เมื่อไก่ตาแตกบางครั้งก็จะมีการเย็บเปลือกตาให้บาดแผลปิด ไม่ให้ร่องแร่งเหวอะหวะ การสู้เย็บตาจึงเป็นสำนวน หมายถึง สู้จนถึงที่สุด ไม่ถอย ไม่ย่อท้อ ต่อมาสำนวนนี้ได้แปรมาเป็น สู้ยิบตาในปัจจุบันจะได้ยินสำนวน สู้ยิบตามากกว่า การสู้เย็บตาแบบดั้งเดิม
สำนวนคาวมเปรียบเทียบกับไก่ยังมีที่น่าสนใจอีกหลายสำนวน อย่าง ไก่อ่อน หมายถึงผู้อ่อนหัดยังไม่ชำนาญ ยังสู้เขาไม่ใคร่ได้ เมื่อมีสำนวนเกี่ยวกับ ไก่อ่อน แล้ว ก็มีสำนวนเกี่ยวกับไก่แก่ คือ ไก่แก่แม่ปลาช่อน ใช้เปรียบกับหญิงมีอายุที่ช่ำชอง มีมารยาเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ นานา สำนวนนี้ กาญจนาคพันธุ์ ได้สันนิษฐานไว้ว่า เดิมน่าจะเป็น กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน เพราะมีกล่าวอยู่ในวรรณกรรมเก่าๆ หลายเรื่อง เช่น บทพระราชนิพนธ์คาวีในรัชกาลที่สองกล่าวไว้ว่า ไม่พอทีตีวัวกระทบคราด สัญชาติกระต่ายแก่แม่ปลาช่อน แสร้งสบิ้งสะบัดตัดรอน จะช่วยสอนให้ดีก็มิเอา หรือในเรื่องพระอภัยมณีก็กล่าวว่า กระต่ายแก่แต่ละคนล้วนกลมาก ทั้งฝีปากเปรื่องปราชญ์ฉลาดเฉลียว
เมื่อสังเกตธรรมชาติของกระต่าย ยามเล็กจะดูร่าเริงน่ารัก แต่พออายุมากเข้าจะดุ เช่นเดียวกับแม่ปลาช่อนตามธรรมชาติไม่ทำอันตรายคน แต่ถ้าเป็นแม่ปลาวางไข่จะดุมากถึงกับกัดคนตาย จึงเปรียบหญิงที่อายุมากและมีเล่ห์เหลี่ยมมากว่า กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน ต่อมาเพี้ยนจากกระต่ายเป็นไก่ อาจจะเป็นเพราะเสียงคล้ายกัน และคำว่า ไก่ ออกเสียงสั้นกว่าก็เป็นได้
ไก่เป็นสัตว์ตัวเล็ก จึงเชื่อว่าไก่มีน้ำลายน้อยมาก น้อยเหลือเกิน คนโบราณจึงใช้สำนวนเปรียบว่าเท่า น้ำลายไก่ แม้น้ำลายไก่จะน้อยมากจนแทบไม่มีใครเห็น แต่ขี้ไก่เป็นสิ่งที่คนเห็นกันทั่วไป เพราะไก่จะคุ้ยเขี่ยหากินตามพื้นดิน ขณะเดียวกันก็ถ่ายของเสียไปเรื่อยๆ ขี้ไก่มีขนาดไม่ใหญ่โต บางครั้งเมื่อคนเดินผ่านอาจไม่ทันสังเกตเห็นจึงเหยียบไปโดยไม่รู้ตัว สำนวน ไม่ใช่ขี้ไก่ จึงเกิดขึ้นหมายถึงไม่ใช่สิ่งที่เหยียบย่ำได้ง่ายๆ เหมือนขี้ไก่ ไม่ใช่สิ่งเลวทรามต่ำช้า ไม่ใช่สิ่งที่เลว จะถูกดูหมิ่นไม่ได้ง่ายๆ
สำนวนไทยที่เกี่ยวกับไก่ยังมีอีกมาก พฤติกรรมของไก่ปรากฎอยู่ในสำนวนไทยอีกหลายสำนวน ติดตามอ่านได้ในพูดไทยเขียนไทยฉบับหน้า
ขอขอบคุณข้อมูลจากthainews.prd.go.th



สำนวนไทย : กระต่ายชมจันทร์                                                                               กระต่ายชมจันทร์
          สัตว์ดุร้ายอย่างเสือเยื้องย่างผ่านไปแล้ว สัตว์น่ารักอย่างกระต่ายก็กระโดดหยองแหยงเยี่ยมหน้าเข้ามา ปีขาลเคลื่อนผ่านไป ปีกระต่ายก็คืบคลานเข้ามา ถ้าเสือเจอกับกระต่ายก็คงจับกระต่าบกินอย่างแน่นอน หูยาวๆ ตัวขาวๆ ขนฟูๆ เป็นความน่ารักของกระต่าย สัตว็สัยลักษณ์ประจำปีเถาะ อักษราขอนำสำนวนไทยที่เกี่ยวกับกระต่ายมาเขียนให้ชาวกรมประชาสัมพันธ์ได้อ่านกันในฉบับนี้               
           อย่างที่บอกไปแล้วว่าเสือเป็นสัตว์ดุร้าย กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร กระต่ายก็อยู่ในข่ายอาหารของเสือด้วย สำนวนว่า กระต่ายแหย่เสือ จึงหมายถึงการล้อเล่นกับอันตราย เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง อันที่จริงแล้วกระต่ายเป็นสัตว์ขี้ขลาดขี้ตกใจ ตามนิทานที่เล่ากันถึงกระต่ายซึ่งอยู่ใต้ต้นมะพร้าว เพียงลูกมพร้าวหล่นกระต่ายก็ตื่นตระหนกตกใจ ไม่ทันดูให้แน่ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็เที่ยววิ่งไปบอกใครว่าฟ้าถล่ม สำนวนว่า กระต่ายตื่นตูม จึงหมายถึง การตื่นเต้นในเรื่องไร้เหตุผล ใช้เปรียบเทียบกับคนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่าย ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันสำรวจหรือพินิจพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน เป็นการกระทำที่ขาดสติ ไม่ก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดไม่โตมากนัก หูยาว ขนปุย มี ๔ ขา มีนิทานที่เล่าถึงศิษย์วัดที่ขโมยกินขากระต่ายไป ๓ ขา พอถูกสอบสวนก็ยืนยันว่ากระต่ายมีขาเดียว แต่บางครั้งก็เล่ากันว่าขโมยไปเพียง ๑ ขา จึงยืนยันว่ากระต่ายมี ๓ ขา ไม่มีหลักฐานยืนยันว่านิทานดังกล่าวทำให้เกิดสำนวน หรือเป็นนิทานที่คิดขึ้นมาเพื่ออธิบายที่มาของสำนวนดังกล่าว หรือนิทานและสำนวนมาพ้องกันโดยบังเอิญก็ได้ อย่างไรก็ตามทั้งสำนวนว่า กระต่ายขาเดียว และ กระต่ายสามขา ล้วนหมายถึงยืนกรานไม่ยอมรับ หรือบางครั้งหมายถึงพูดยืนยันอยู่คำเดียว ยืนยันความคิดเดิมไม่เปลี่ยนแปลง               
          ความหมายหลังนี้ กาญจนาคพันธุ์สันนิษฐานไว้ว่ากระต่าย ที่ปรากฎอยู่ในสำนวนน่าจะเป็นจากกระต่ายขูดมะพร้าว ซึ่งมีขาหน้าขาเดียว ยืนทรงตัวอยู่ได้ด้วยขาเดียว คำว่า ยืนอาจหมายถึง ยั่งยืน คงที่ บางครั้งจึงใช้เป็นสำนวนว่า ยืนกระต่ายขาเดียว หมายความว่า พูดยืนยันอยู่อย่างเดียวไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น               
         ธรรมชาติของกระต่ายมักอาศัยอยู่ตามชายป่า ชายทุ่ง บางครั้งก็ออกมาหากินเวลากลางคืน เมื่อเดือนหงายเราจะเห็น กระต่ายออกมาวิ่งเล่น คนสมัยก่อนจึงจินตนาการว่า กระต่ายหลงแสงจันทร์ แต่กระต่ายเป็นสัตว์เดินดิน ไม่มีความสามารถที่จะโผบินเข้าไปใกล้ดวงจันทร์ได้แม้แต่น้อย ดวงจันทร์จึงเป็นสิ่งสูงส่ง ที่แม้กระต่ายจะชื่นชอบสักเพียงไดก็ไม่มีโอกาสใกล้ชิด กวีโบราณจึงมักเปรียบดวงจันทร์กับผู้ญิงสูงศักดิ์ และเปรียบกระต่ายกับชายต่ำศักดิ์ สำนวนว่ากระต่ายหมายจันทร์ จึงหมายถึงชายที่หมายปองหญิงสูงศักดิ์หรือหญิงที่มีฐานะดีกว่า               
          สำนวนที่จะกล่าวถึงเป็นการส่งท้ายปีเถาะ คือ สำนวน หนวดเต่าเขากระต่าย คงไม่มีใครเคยเห็นเต่ามีหนวดและกระต่ายมีเขา สำนวนนี้จึงหมายถึง ของที่ไม่มี ของที่หาไม่ได้ มักใช้ในกรณีที่หมายถึงของดีของวิเศษกว่าของธรรมดา ย่อมหาไม่ได้ กระต่ายยังคงต้องอยู่กับพระจันทร์ไปอีกนานเท่านาน อักษราขอจบสำนวนไทยที่เกี่ยวกับกระต่ายสัตว์สัญลักษณ์ปีเถาะไว้เท่านี้ ฉบับหน้าแม้จะไม่อยากพาเอางูมาเกี่ยวข้องด้วยแต่ก็เลี่ยงไม่ได้เสียแล้วเพราะถึงเวลาของเขาแล้ว จำเป็นต้องนำเอาทั้งงูเล็กและงูใหญ่สัตว์สัญลักษณ์ปีมะโรงและปีมะเส็งมาเจอะเจอกับชาวกรมประชาสัมพันธ์ รู้จักพวกเขากันหน่อยเถอะนะ
ขอบคุณข้อมูลจากthainews.prd.go.th
ถ้าเจอเสือต้องใจดีสู้เสือ
          ความช่างสังเกตของคนไทย ที่สังเกตเห็นอากัปกิริยาของเสือ จึงนำมาเปรียบเทียบในสำนวนต่างๆ ไว้มากมาย เป็นข้อคิดข้อเตือนใจในการดำเนินชีวิต พูดไทยเขียนไทยฉบับนี้อักษราขอปิดท้ายจบจบตอนสำนวนไทยที่เกี่ยวข้องกับเสือ สัตว์สัญลักษณ์ปีขาล อาการหิวเป็นอากัปกิริยาอย่างหนึ่งของเสือที่สังเกตได้ เช่น เวลาเสือหิวมันจะล่าเหยื่ออย่างมุ่งมั่น ไม่ว่าอะไรผ่านมาก็ล่าทั้งนั้น สำนวนว่า เสือหิวจึงหมายถึงอยากได้ไปหมดอยากได้ตลอดเวลา เมื่อเสือได้เหยื่อมาแล้วหรือแย่งมาจากตัวอื่นก็ตามมันจะลากไปนอนกิน มองเผินๆ เหมือนกินอย่างสบายอารมณ์ สำนวน เสือนอนกิน จึงหมายความว่ามีส่วนได้ มีรายได้ในกิจการหรืองานใดๆ เพราะตนเองมีอิทธิพลเข้าไปควบคุมเฉยๆ โดยไม่ต้องทำงาน เป็นการรับผลประโยชย์หรือผลกำไรอย่างง่ายๆ อย่างสะดวกสะบายโดยไม่ต้องลงแรง  ยังมีสำนวนอีกสำนวนหนึ่งซึ่งมีความหมายคล้ายกันในแง่ของการได้ประโยชน์ แต่ใช้ในสถาณการณ์ต่างกัน คือสำนวนว่า จับเสือมือเปล่า เนื่องจากเสือเป็นสัตว์มีเขี้ยวเล็บและดุร้าย การจับเสือจึงต้องมีอาวุธและอุปกรณ์ในการจับ แต่ถ้าเราร่วมเดินทางไปจับเสือกับผู้อื่นโดยไปตัวเปล่าไม่นำสิ่งใดไปเลย พอเขาจับเสือกันได้ก็ได้ชื่อว่าร่วมจับกับเขาด้วย สำนวนว่า จับเสือมือเปล่า จึงหมายถึงแสวงหาผลประโยชน์โดยตนเองไม่ได้ลงทุนแต่อาจลงแรงบ้าง ไม่ได้อยู่เฉยๆ โดยใช้แต่เพียงบารมีหรืออิทธิพล และคอยรับผลประโยชน์อย่างเดียวอย่างเสือนอนกิน                กาญจนาคพันธุ์ นักปราชญ์ทางภาษาได้กล่าวถึงตำราท่ารำโบราณว่า มีท่ารำชื่อ เมขลาล่อแก้วกลางอัมพร กินนรเลียบถ่ำ หนังหน้าไฟ เสือทำลายห้าง ช้างทำลายโรง โจงกระเบนตีเหล็ก…” กาญจนาคพันธุ์สันนิษฐานว่า สำนวน เสือทลายห้าง ช้างทลายโรง อาจมีที่มาจากท่ารำในตำราเล่มนี้ คำว่า ห้าง ในสำนวนนี้น่าจะเป็นสถานที่ที่มีการนำไม้มาขัดไว้บนต้นไม้ใหญ่ในป่าไว้สำหรับคอยเฝ้าดูเหตุการณ์หรือดักยิงสัตว์ การทำลาย ห้างได้ คงต้องออกแรงกระโจนเต็มที่ สำนวนว่า เสือทลายห้าง ช้างทลายโรง จึงหมายถึงคนที่แสดงกิริยาเอะอะตึงตัง โครมคราม หรือมีกิริยาลุกลี้ลุกลนไม่เรียบร้อย               
             เนื่องจากเสือเป็นสัตว์ดุร้าย เป็นสัตว์ที่เก่ง โดยปริยายจึงเรียกคนเก่ง คนดุร้าย ว่าเป็น เสือและเรียกโจรที่เก่งและดุร้ายว่า ไอ้เสือการเหยียบถิ่นเสือ จึงหมายถึงเข้าไปในถิ่นนักเลง ส่วนสำนวนว่า เสือเก่า หมายถึงคนที่เคยมีฝีมือมาก่อน และสำนวนว่า ลบลายเสือ ก็หมายถึงเอาชนะผู้ที่มีฝีไม้ลายมือนั่นเอง ฝีมือ ในที่นี้มักใช้ในความหมายของนักเลงเสียเป็นส่วนใหญ่ และเป็นการมองในแง่ของความเก่งกล้าผนวกกับความดุร้าย ไม่ว่าเสือจะเก่งจะดุร้ายสักเพียงใดก็ต้องมีเวลาสิ้นฤทธิ์ สำนวนว่า เสือจนท่า ข้าจนทาง จึงหมายความว่าไม่มีทางเลือก หมดทางไป และเมื่อเสือติดจั่น (เครื่องมือดักสัตว์รูปร้างคล้ายกรง) เสือจะเดินไปเดินมาเพื่อหาทางออก สำนวน เสือติดจั่น จึงหมายถึงคนเก่งเข้าที่คับขันหรือตกอยู่ในภาวะลำบาก บางครั้งใช้เปรียบกับกิริยาของคนที่เดินไปเดินมาในที่แคบๆ ด้วยความหงุดหงิดงุ่นง่านว่าเหมือนเสือติดจั่นก็ได้               
            แม้เสือจะมีพละกำลังล่าเหยื่อเก่ง แต่ก็มีบางครั้งที่ต้องอดจนผอมโซ มีการนำเอาเสือผอมโซมากล่าวไว้ในสำนวน ให้เหยื่อเสือผอม เมื่อเห็นเสือผอมหิวโซคนใจดีอาจสงสารให้อาหารด้วยความกรุณา พอเสือมีกำลังขึ้น สัญชาตญาณของสัตว์กินเนื้อก็มองเห็นคนเป็นเหยื่ออันโอชะ สำนวนให้เหยื่อเสือผอมจึงเป็นการเตือนสติผู้ที่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูคนพาลสันดานหยาบว่า พอเขามีกำลังขึ้นมาก็คิดทำร้ายเอาได้ หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ ทำคุณแก่คนพาลจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง มีอีกสำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับเสือผอม (โซ) ก็คือสำนวนว่า เข้าผลักเสือผอมหมายถึงทำอวดเก่งกับผู้ไม่มีทางสู้ เพราะเสือผอมเป็นเสือที่ไม่มีแรง บางครั้งมีการพูดเตือนสติเป็นคำคล้องจองกันว่า คนล้มอย่าคร่อม เสือผอมอย่าผลัก เป็นการเตือนไม่ให้ซ้ำเติมผู้ที่พลาดพลั้งไม่มีทางสู้ เพราะสักวันหนึ่งเขาอาจฟื้นตัวขึ้นมาก็ได้               
           เสือกับจระเข้ เป็นสัตว์ที่คนสมัยก่อนนำมาเป็นสำนวนเปรียบเทียบกันอยู่หลายสำนวน อาจเป็นเพราะว่าเสือได้ชื่อว่าเป็นสัตว์บกที่ดุร้าย ส่วนจระเข้เป็นสัตว์ดุร้ายที่อยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำด้วยแล้ว จระเข้นับว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งทีเดียว การอยู่ตรงปากเสือปากจระเข้นับว่าเป็ฯภาวะที่น่ากลัวอย่างยิ่งทีเดียวเพราะอาจถูกงับได้ตลอดเวลา สำนวนว่า ปากเสือปากจระเข้จึงหมายถึงท่ามกลางอันตราย ในทำนองเดียวกัน สำนวนว่า หนีเสือปะจระเข้ จึงหมายถึงหนีภัยอย่างหนึ่งแต่กลับมาพบภัยอีกอย่างหนึ่ง เป็นการหนีไปพบกับภัยอันตรายพอๆ กับของเดิม               
           ดังที่ทราบแล้วว่า เสือเป็นสัตว์บก การถ่อแพไล่เสือจึงเป็นสิ่งที่ป็นไปไม่ได้ ส่วนจระเข้แม้จะอยยู่บนบกได้ แต่เมื่อลงน้ำก็คล่องแคล่ว การถ่อเรือไล่จระเข้จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก สำนวนว่า ถ่อแพไล่เสือ ถ่อเรือไล่จระเข้ จึงหมายถึงทำสิ่งที่ไม่อาจทำให้สำเร็จได้โดยง่าย               
           สำนวนที่เกี่ยวกับเสือและจระเข้ยังมีอีกสำนวนหนึ่งคือ เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ เมื่อลูกเสือลูกจระเข้ยังเล็กอยู่ อาจดูน่ารักและไม่มีพิษสง แต่พอโตขึ้นผู้เลี้ยงอาจเดือดร้อน เพราะเสือและจระเข้เป็นสัตว์ที่มีธรรมชาติดุร้าย ไม่มีใครเลี้ยงเสือและจระเข้ให้เชื่องตลอดไปได้ สำนวนว่า เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ นี้จึงหมายถึงเลี้ยงเด็กที่มีสันดานชั่วร้าย พอเด็กนั้นโตขึ้นผู้เลี้ยงอาจได้รับความเดือดร้อนหรือมีเรื่องร้ายมาถึงตัวเองก็ได้ นอกจากนั้น สำนวนนี้ยังอาจหมายถึงการเลี้ยงลูกของคนไม่ดีพอเด็กโตขึ้นก็มักมีอุปนิสัยใจคอไม่ดีตามพ่อแม่ คนที่เลี้ยงจึงต้องได้รับความลำบาก               
           เมื่อไปสวนสัตว์ จะเห็นว่าคนเลี้ยงนำอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มาเลี้ยงเสือ เพราะเสือเป็นสัตว์กินเนื้อ แต่ถ้าอยู่ตามธรรมชาติเสือจะล่าเหยื่อเอง จึงเกิดสำนวนว่า ชาติเสือจับเนื้อกินเอง หมายถึงการมีศักดิ์ศรีไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น นอกจากจะมองว่าเสือมีศักดิ์ศรีแล้ว คนโบราณยังมองเสือว่าเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณมีไหวพริบในการเอาตัวรอด สำนวนว่า เสือรู้จึงหมายถึงคนที่มีไหวพริบ ฉลาดรู้เท่าทัน รู้รักษาตัวรอด ไม่เพลี้ยงพล้ำง่ายๆ มักใช้กับคนที่เป็นนักเลงเก่งกล้า เมื่อเราจำเป็นต้องสู้กับเสือ หมายถึงต้องต่อสู้กับสัตว์ที่น่ากลัวและเป็นอันตราย แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องรวบรวมความกล้าเพื่อเผชิญกับมัน สำนวนว่า ใจดีสู้เสือ” จึงหมายถึงทำใจให้เป็นปกติไม่ตื่นเต้นหวาดกลัวจนเกินไปเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่น่ากลัว               
            สำนวนไทยที่เกี่ยวกับเสือสัตว์สัญลักษณ์ปีขาล อักษราก็ขอจบลงในฉบับนี้ เสือผ่านไป กระต่ายก็มา พูดไทยเขียนไทยฉบับหน้า อักษราจะพากระต่ายและสำนวนไทยที่เกี่ยวข้องกับสัตว์สัญลักฏษณ์ปีเถาะมาพบกับชาวกรมประชาสัมพันธ์
ขอขอบคุณข้อมูลจากthainews.prd.go.th
ขออย่าพบพานเสือร้าย
           พฤติกรรมของเสือที่แสดงออกถึงความดุร้าย ปรากฎอยู่ในสำนวนไทยมากมาย เป็นข้อคิดข้อเตือนใจให้เกิดความระแวดระวังที่ยังคงนำมาใช้ได้กับการดำเนิน ชีวิตในปัจจุบัน อักษราขอนำเรื่องราวของเสือที่ปรากฎในสำนวนไทยมาเสนอต่ออีกในฉบับนี้
           บางครั้งพฤติกรรมของสัตว์หลายชนิดอาจคล้ายกัน ทำให้เกิดสำนวนที่คล้ายกัน เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของสัตว์เท่านั้น เช่น สำนวนว่า เสือสองตัวอยู่ถ่ำเดียวกันไม่ได้ ซึ่งคนสมัยนี้เติมข้อยกเว้นของสำนวนนี้ไว้ว่า ยกเว้นจะเป็นเสือตัวผู้และเสือตัวเมีย แต่คนโบราณคงละไว้ในฐานที่เข้าใจจึงไม่กล่าวให้ยืดยาวเยิ่นเย้อ นอกจากนั้นคนสมัยก่อนยังเฝ้ามองพฤติกรรมของสัตว์อื่นแล้วได้ข้อสรุปว่า สัตว์มีพฤติกรรมคล้ายคลึงกันนี้ได้แก่ เสือ ราชสีห์ และจรเข้ จึงมีสำนวนที่มีความหมายที่คล้ายคลึงกันว่า ราชสีห์สองตัวอยู่ถ่ำเดียวกันไม่ได้และ จรเข้สองตัวอยู่ถ่ำเดียวกันไม่ได้ทั้ง ๓ สำนวนนี้ หมายถึงคนมีอำนาจหรือมีอิทธิพลพอๆ กัน เป็นใหญ่เสมอกัน อยู่ร่วมกันไม่ได้ เหมือนสัตว์ทั้งสามชนิด ซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย เชื่อมั่นในความยี่งใหญ่ของตนไม่มีใครยอมให้ผู้อื่นเป็นใหญ่เหนือตน
            เสือกับแมวเป็นสัตว์ที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายคลึงกันเพียงแต่แมวตัวเล็กและดุ ร้ายน้อยกว่าเสือ หากแต่ดูภาพภายนอกเวลาเสือทำท่าสงบนิ่งจะดูไม่น่ากลัวถ้าไม่รู้จักพฤติกรรม ที่ดุร้ายของมัน สำนวนว่า เสือเฒ่าจำศีล เป็นการนำพฤติกรรมของเสือแก่ที่ทำท่าสงบเงี่ยมเหมือนคนถือศีลทำให้สัตว์ทั้ง หลายตายใจว่าไม่มีพิษสง แต่เสือก็คือเสือ เมื่อได้จังหวะก็ยังตะครุบเหยื่อจับสัตว์กินเป็นอาหารเช่นเดิม สำนวนเสือเฒ่าจำศีลจึงหมายถึงคนที่ทำท่าสงบเสงี่ยม แต่อันที่จริงเจ้าเลห์เพทุบายมีเลห์เหลี่ยมมาก ความสงบเสงี่ยมที่เห็นภายนอกแป็นเพียงการกระทำตบตาให้ตัวเองบรรลุวัตถุ ประสงค์ได้สิ่งที่ต้องการเท่านั้นเอง นอกจากนั้นบางครั้งสำนวนเสือเฒ่าจำศีล อาจหมายถึงคนแก่ที่มีพิษสงแต่ไม่แสดงออกก็ได้
            บางครั้งมีการนำเสือกับสัตว์ที่มีพฤติกรรมคนละแบบมาสร้างเป็นสำนวน สัตว์ที่นำมากล่าวในที่นี้คือ สมัน สมันเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องคล้ายกวางป่า แต่มีขนาดเล็กกว่า ขนสีน้ำตาล หางสั้น มีเขาแตกเขนงมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น แลดูสวยงามมาก สมันเป็นสัตว์ป่าสงวน เชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว สมันไม่ใช่สัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร ไม่ดุร้าย ไม่มีพิษมีภัย ไม่เป็นที่เกรงกลัวเหมือนกับเสือ คนโบราณคิดเป็นสำนวนขึ้นมาว่า เสือในร่างสมัน หมายถึง คนร้ายที่ปลอมมาในร่างของคนดี ยังมีสำนวนที่เป็นเรื่องของเนื้อกับเสือ แต่มีความหมายต่างจากสำนวนแรก คือสำนวนว่า หน้าเนื้อใจเสือหมายถึงมีหน้าตาที่แสดงความเมตตา แต่อันที่จริงแล้วใจร้าย ใจคอโหดเหี้ยม หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หน้าตาดีใจคอโหดร้าย นั่นเอง
           ปกติเนื้อเป็นอาการของเสือ ดังนั้นการฝากเนื้อไว้กับเสือจึงเป็นการฝากของไว้กับผู้ที่อยากได้ของสิ่ง นั้น เนื้อย่อมตกเป็นอาหารของเสือได้โดยง่าย สำนวน ฝากเนื้อไว้กับเสือ จึงมีความหมายทำนองเดียวกับ ฝากปลาไว้กับแมวหรือ ฝากปลาย่างไว้กับแมวซึ่งหมายความว่า ฝากสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้กับผู้ที่ชอบสิ่งนั้น โอกาสที่จะสูญเสียของที่ฝากไว้ย่อมมีมาก หรือจะตีความให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ไว้วางใจคนที่ไม่ควรไว้วางใจนั่นเอง
           สำนวนว่า ฝากเนื้อไว้กับเสือและ เนื้อเข้าปากเสือ แม้จะดูคล้ายกันแต่มีความหมายต่างกันคือ เนื้อเข้าปากเสือหมายความว่าตกอยู่ในที่อันตรายไม่มีทางที่จะรอดได้ มีแต่จะสูญเสียไป เหมือนเนื้อ (เนื้อสมัน) ที่อยู่ในปากเสือแล้วทางรอดมีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่ก็จะต้องถูกเสือกัดกินเสมอ นอกจากเสือแล้ว หมีก็เป็นสัตว์ดุร้าย ดังนั้น จึงมีสำนวนว่า อยู่ในปากเสือปากหมี หมายความว่า อยู่ในที่คับขัน อยู่ท่ามกลางอันตรายหรือตกอยู่ในอันตรายก็ได้
              สืบเนื่องจากที่เนื้อ (เนื้อสมัน) ย่อมตกเป็นเหยื่อของเสือเสมอ จึงมีสำนวนเปรียบเทียบเกี่ยวกับเนื้อ (เนื้อสมัน) และเสืออีกสำนวนหนึ่ง คือ เอาเนื้อสู้เสือ หมายถึงเอาคนที่ไม่มีอำนาจไปสู้กับคนที่มีอำนาจ หรือให้คนฝ่ายหนึ่งที่มีอะไรๆ ด่อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่งไปสู้กับฝ่ายที่เหนือกว่าทุกกรณีย่อมไม่มีทางสู้กันได้ มีโคลงสุภาษิตเก่าแต่งเป็นกระทู้ เอา-เนื้อ-สู้-เสือ ไว้ว่า
เอา           ตนปนด้วยเหล่า     ตุโกง
เนื้อ
         ป่าเข้าปนโขลง      พยัคฆ์ร้าย
สู้
             พยัคฆ์จักตายโหง  เองพ่อ
เสือ
          สบเนื้อจักย้าย        ห่อนร้ายร้าย ฤๅมี
            โคลงสุภาษิตบทนี้เข้าใจง่าย กาญจนาคพันธุ์ นักปราชญ์ทางภาษาของไทยนำมายกเป็นตัวอย่างประกอบสำนวนไว้ในหนังสือสำนวนไทย
            การเปรียบเนื้อ (เนื้อสมัน) กับเสือ เป็นการเปรียบของคู่กรณีที่มีฝีไม้ลายมือแตกต่างกันอย่างลิบลับ แต่ถ้ากล่าวถึงผู้ที่มีฝีไม้ลายมือ มีความสามารถ มีชั้นเชิงพอๆ กัน ก็มีสำนวนเปรียบไว้อย่างชัดเจนอีกเช่นกันว่า
สิงห์พบเสือหรือ เสือพบสิงห์
ในสำนวนไทย เสือมักเป็นตัวแทนของความดุร้าย ความมีอำนาจ และหมายถึงคนใหญ่คนโตอีกด้วย เวลาเสือต่อสู้กันต้นไม้ใบหญ้าในบริเวณนั้นย่อมเสียหายไปด้วย โดยเฉพาะต้นหญ้าต้องโดนย่ำโดนเหยียบแล้วเหยียบอีก คนโบราณช่างคิดและช่างเปรียบ จึงเปรียบหญ้าแพรกกับผู้น้อยหรือคนธรรมดาสามัญ และกล่าวเป็นสำนวนว่า เสือสูกันหญ้าแพรกแหลกหรือเสือสู้กันหญ้าแพรกแหลกลาญ สำนวนนี้มักใช้ในทางการเมืองการปกครอง คือถ้าผู้มีอำนาจ ผู้ยิ่งใหญ่ หรือผู้ปกครองประเทศวิวาทสู้รบหรือแย่งชิงอำนาจกัน บรรดาผู้น้อยหรือราษฎรก็พลอยได้รับผลกระทบ พลอยเดือดร้อนไปด้วย อันที่จริงแล้วสำนวนนี้ไม่เพียงใช้ได้ในวงการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เตือนสติผู้บริหารระดับอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน
            ผู้ที่เคยเห็นและสังเกตอากัปกิริยาของเสือ ไม่ว่าจะเป็นเสือจริงๆ ที่อยู่ในกรง หรือเสือในภาพยนต์สารคดีต่างๆ จะเห็นการเดินของเสือที่เยื้องย่าง ดูสง่างาม มีหางลาดทอดยาวมันจะเดินไปเรื่อยๆ ไม่ได้แสดงอาการดุร้าย แต่พอได้จังหวะก็จะเข้าโจมตีเหยือทันที มีการนำเอาอาสกัปกิริยาเช่นนี้มากล่าวเป็นสำนวนว่า เสือลากหางหมายถึงคนทีทำกิริยาเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้เป็นอุบายทำให้คนอื่นตายใจ พอได้ทีก็จู่โจมเข้าทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยผู้อื่นไม่ทันรู้ตัว
           นอกจากนั้นในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของสำนวนเสือลากหาง ไว้อีกอย่างหนึ่งว่าหมายถึงคนที่ทำท่าทางอย่างเสือลากหางขู่ให้ผู้อื่นกลัว ความหมายหลังนี้มีที่ใช้น้อย แต่ก็มีกล่าวไว้ในบทละครเรื่อสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แสดงท่าทางของเจ้าเงาะไว้ว่า
เห็นพี่เมียชำเลืองค้อน
ก็ฉุดเมียมาสออนให้ค้อนบ้าง
ถือไม้เท้าก้าวเดินเป็นท่าทาง
ทีเสือลากหางให้น่ากลัว
           สำนวนไทยที่มีสัญลักษณ์ปีนักษัตรปีขาลยังไม่จบอักษราขอนำเสนอต่อในฉบับหน้า
ขอขอบคุณข้อมูลจากthainews.prd.go.th